ปั๊มความร้อนอุตสาหกรรม (Heat Pump)

Heat pump คือเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานน้อยในการถ่ายเทพลังงานความร้อน เหมาะใช้ในอุตสาหกรรมอ่อนนุ่ม เช่น โรงงานแปรรูป โรงแรม สปา ฯลฯ โดย Mayekawa มีระบบ CO₂ และแอมโมเนียสำหรับน้ำร้อน/ความร้อนอากาศพรีเมียม

Heat pump เป็นอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อนชนิดหนึ่ง ซึ่งเคลื่อนย้ายพลังงานความร้อนในทิศทางตรงข้ามกับกระบวนการถ่ายเทความร้อนแบบเกิดขึ้นได้เอง กล่าวคือถ่ายเทความร้อนจากบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าไปยังบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงกว่า โดยใช้พลังงานภายนอกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ตัวอย่างอุปกรณ์ heat pump ที่ทุกคนคุ้นเคยคือ เครื่องปรับอากาศ และตู้เย็น โดยคำว่า heat pump นั้นมีความหมายกว้าง และใช้เรียกทั้งอุปกรณ์ทำความเย็น และอุปกรณ์ทำความร้อนในระบบ HVAC (heating, ventilation, and air condition) Heat pump ที่ใช้เพื่อทำความร้อนนั้นใช้หลักการเดียวกับเครื่องทำความเย็น แต่ทำในทิศทางตรงกันข้ามคือปล่อยความร้อนในที่ที่ต้องการ และปล่อยความเย็นออกสู่ภายนอก

ในส่วนของการทำความร้อนด้วย heat pump นั้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องทำความร้อนโดยขดลวดไฟฟ้า 3 ถึง 4 เท่า แต่อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่อง heat pump ก็สูงกว่าเครื่องทำความร้อนโดยขดลวดไฟฟ้าเช่นกัน

โดยปกติแล้วพลังงานความร้อนจะถ่ายเทจากที่ที่ร้อนกว่าไปยังที่ที่เย็นกว่า แต่เครื่อง heat pump สามารถทำให้เกิดการถ่ายเทความร้อนในทิศทางตรงข้ามได้โดยการใช้พลังงานจากภายนอก เช่น พลังงานไฟฟ้า เพื่อนำความร้อนจากที่เย็นไปสู่ที่ร้อน โดยส่วนใหญ่แล้วในระบบ HVAC คำว่า heat pump จะหมายถึง อุปกรณ์ทำความเย็นแบบอัดไอ (vapor–compression refrigeration) ที่สามารถย้อนกลับได้ คือสามารถทำงานเป็นอุปกรณ์ทำความเย็น หรือความร้อนก็ได้

Heat pump ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายเพราะใช้พลังงานคุณภาพสูง (พลังงานไฟฟ้า) น้อยกว่าพลังงานความร้อนที่ปล่อยออกมาได้ พลังงานความร้อนส่วนใหญ่มาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มาจากพลังงานไฟฟ้าที่ใส่เข้าไป ในเครื่อง heat pump ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า สามารถถ่ายเทความร้อนได้มากกว่าพลังงานไฟฟ้าที่ใส่เข้าไป 3 ถึง 4 เท่า กล่าวคือมีค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ (COP) สูงถึง 3 หรือ 4 ในขณะที่เครื่องทำความร้อนแบบขดลวดไฟฟ้ามีค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะ (COP) สูงสุดได้เพียง 1

Heat pump ใช้สารทำความเย็นเป็นของไหลตัวกลางในการดูดซับความร้อนขณะที่กลายเป็นไอ จากนั้นปล่อยพลังงานความร้อนออกขณะที่สารทำความเย็นควบแน่น

ปั๊มความร้อนแบบกลับวัฏจักรได้ (Reversible heat pump)

การที่ heat pump ทำงานได้ทั้งการทำความร้อน และความเย็นนั้นต้องอาศัย reversing valve เพื่อให้สารทำความเย็นสามารถไหลย้อนกลับได้ โดยในกระบวนการทำความร้อนนั้น coil ที่อยู่ภายนอกบริเวณที่ต้องการนั้นจะทำหน้าที่เป็น evaporator ในขณะที่ coil ที่อยู่ภายในบริเวณที่ต้องการจะทำหน้าที่เป็น condenser

สารทำความเย็นที่ไหลมาจาก evaporator (Coil ด้านนอก) จะนำพาพลังงานความร้อนจากอากาศภายนอกเข้ามาภายใน อุณหภูมิของไอจะถูกทำให้สูงขึ้นโดยการอัดใน compressor จากนั้น Coil ภายในจะทำหน้าที่ถ่ายเทความร้อนจากไอสารทำความเย็นให้กับบริเวณภายใน ทำให้สารทำความเย็นควบแน่นกลายเป็นของเหลวอีกครั้ง

ส่วนในโหมดการทำความเย็นก็จะคล้ายคลึงกัน แต่กลับด้านให้ Coil ภายนอกทำหน้าที่เป็น condenser และ Coil ภายในจะเป็น evaporator

หลักการทำงาน (Reversible heat pump)

Heat pump อาศัยหลักการของคุณสมบัติทางกายภาพในการกลายเป็นไอและการควบแน่นของสารทำความเย็น โดย Compressor จะอัดสารทำความเย็นเพื่อทำให้สารทำความเย็นร้อนขึ้นในด้านที่ต้องการให้อุณหภูมิสูงขึ้น และลดความดันที่ด้านที่ต้องการดูดซับความร้อน

สารทำความเย็นจะถูก compressor อัดและหมุนเวียนในระบบ โดยสารทำความเย็นที่อุณหภูมิและความดันสูงจะถูกทำให้เย็นลงที่เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่เรียกว่า condenser จนกระทั่งควบแน่นกลายเป็นของเหลวที่ความดันสูงอุณหภูมิปานกลาง จากนั้นจะถูกส่งผ่านไปยังอุปกรณ์ลดความดัน เช่น expansion valve, capillary tube จนกลายเป็นของเหลวที่อุณหภูมิและความดันต่ำ แล้วจึงเข้าสู่เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนอีกเครื่องหนึ่งซึ่งเรียกว่า evaporator เพื่อให้สารทำความเย็นดูดซับความร้อนและเดือดกลายเป็นไอ และไหลเข้าสู่ compressor เป็นวัฏจักรเช่นนี้ต่อไป

โดยสารทำความเย็นหลังจากถูกอัดแล้ว จะต้องมีอุณหภูมิที่สูงเพียงพอเพื่อให้พลังงานความร้อนสามารถถ่ายเทออกจากระบบผ่าน condenser ได้ เช่นเดียวกันสารทำความเย็นใน evaporator ต้องมีอุณหภูมิต่ำเพียงพอเพื่อรับความร้อนจากระบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลต่างความดันจะต้องมากพอเพื่อให้สารทำความเย็นควบแน่นที่ฝั่งร้อน และยังคงสามารถระเหยเป็นไอที่อุณหภูมิต่ำในบริเวณฝั่งเย็น ยิ่งต้องการผลต่างอุณหภูมิมากก็ยิ่งต้องการผลต่างความดันมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็หมายความว่าต้องใช้พลังงานในการอัดสารทำความเย็นมากขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้นสำหรับเครื่อง heat pump ค่า COP จะลดลงเมื่อใช้งานภายใต้ผลต่างอุณหภูมิที่มากขึ้น

แหล่งให้ความร้อนและแหล่งรับความร้อน (Heat sources/ sinks)

ในระบบที่มีขนาดเล็ก จะใช้อากาศภายนอกเป็นทั้งแหล่งให้ความร้อน (heat source) และแหล่งรับความร้อน (heat sink) โดยอาศัยพัดลมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนความร้อน

แต่ในระบบใหญ่ซึ่งต้องจัดการกับพลังงานความร้อนที่มากขึ้น หรือในระบบที่มีพื้นที่จำกัด มักใช้น้ำแทน เพราะสามารถจุความร้อนได้มากกว่าอากาศ นอกจากนี้น้ำอาจจะถูกให้ความร้อนโดยผ่านหม้อต้ม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือวิธีอื่นๆ ภายนอกระบบ heat pump ได้อีกด้วย หรือหากต้องการลดอุณหภูมิของน้ำก็อาจใช้ cooling tower หรือปล่อยน้ำลงในแหล่งน้ำขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น ทะเลสาบ แม่น้ำลำธาร หรือมหาสมุทร เป็นต้น

นอกจากนี้พลังงานความร้อนใต้ดินยังสามารถถูกใช้เป็นแหล่งความร้อนหรือแหล่งรับได้อีกด้วย เนื่องจากแต่ละฤดูกาลอุณหภูมิใต้พื้นดินค่อนข้างจะคงที่และยังเป็นแหล่งกักเก็บความร้อนขนาดใหญ่ ข้อดีของการใช้แหล่งความร้อนใต้ดินเมื่อเทียบกับอากาศภายนอกก็คือ ไม่จำเป็นต้องใช้พัดลมและไม่ต้องการระบบการละลายน้ำแข็ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจึงถูกกว่า แต่ต้องแลกมาด้วยราคาของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่มีราคาสูงกว่าเช่นกัน

Heat pump อาจจะถูกติดตั้งคู่ขนานกับเครื่องให้ความร้อนแบบดั้งเดิม เช่น ฮีตเตอร์ไฟฟ้า หรือหม้อต้มน้ำ เพื่อเป็นการรับประกันว่าจะมีความร้อนใช้อย่างสม่ำเสมอ

การประยุกต์ใช้งาน (Application)

ในงานปรับอากาศ (HVAC)

ในงาน HVAC heat pump ก็คือระบบทำความเย็นแบบอัดไอทั่วไปแต่มีการติดตั้ง reversing valve และเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนความร้อน ดังนั้นทิศทางของการถ่ายเทพลังงานความร้อนนั้นอาจกลับสวนทางได้

Reversing valve สามารถเปลี่ยนทิศทางการไหลของสารทำความเย็นในระบบได้ ทำให้ heat pump สามารถเป็นได้ทั้งเครื่องทำความร้อน และเครื่องทำความเย็นให้กับบริเวณที่ต้องการ เพราะ condenser และ evaporator ต้องทำงานสลับหน้าที่กัน จึงต้องออกแบบให้เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนทั้งสองสามารถทำงานได้ทั้ง 2 หน้าที่

ทำให้ค่าประสิทธิภาพของเครื่อง heat pump อาจจะน้อยกว่าเครื่องที่ทำงาน 2 ระบบแยกกันเล็กน้อย

การทำน้ำร้อน (Water heating)

Heat pump อาจถูกใช้เพื่อให้ความร้อนแก่น้ำในสระว่ายน้ำ หรือเครื่องทำน้ำร้อนในบ้านและอุตสาหกรรม โดยทั่วไปแล้ว ความร้อนจะถูกสกัดจากอากาศภายนอกแล้วส่งผ่านไปยังแท๊งค์เก็บน้ำ หรืออาจจะสกัดความร้อนจากอากาศภายในเพื่อช่วยในการปรับอากาศก็ได้

สารทำความเย็น (Refrigerant)

ในช่วงก่อนปี 1990 สารที่นิยมใช้เป็นสารทำความเย็นคือสารประเภท Chlorofluorocarbons หรือ CFC เช่น R-12 (หรือที่รู้จักในชื่อเครื่องหมายการค้าว่า Freon) แต่ในปัจจุบันได้มีการห้ามผลิตสารเหล่านี้ หรือมีกฎข้อบังคับที่เข้มงวด ตามพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) เพราะสารประเภท CFC เป็นตัวทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศโลก

สารประเภท hydro fluorocarbon (HFC) หรือ R-134a จึงถูกนำมาใช้แทน ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำความเย็นได้คล้ายกับ R-12 แต่ส่งผลกระทบต่อการทำลายชั้นโอโซน และทำให้โลกร้อนน้อยกว่า

สารอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้คือ R-717 หรือแอมโมเนีย นิยมใช้ในระบบขนาดใหญ่ รวมทั้งสาร Propane และ Butane ก็มีใช้ในบางโอกาส

จนกระทั่งปี 2001 คาร์บอนไดออกไซด์ (R-744) ถูกใช้เป็นสารทำความเย็นเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าระบบต้องทำงานภายใต้ความดันที่สูงขึ้นมาก

ส่วนในภาคครัวเรือนและภาคการค้าซึ่งเดิมนิยมใช้สาร Hydrochlorofluorocarbon (HCFC) หรือ R-22 อย่างแพร่หลาย ก็มีการเปลี่ยนมาใช้สารทดแทนพวก R410A ซึ่งไม่ทำลายชั้นโอโซน แต่ส่งผลกระทบต่อปรากฎการเรือนกระจกค่อนข้างสูง

ไฮโดรเจน ฮีเลียม ไนโตรเจน และอากาศ ก็ถูกใช้บ้างเนื่องจากเป็นสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม